1471 จำนวนผู้เข้าชม |
ลดอ้วน ลดโรคข้อเสื่อม
ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่พบในโรคข้อเสื่อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคข้อเข่าเสื่อม คือ น้ำหนักที่มากเกินไป อันเป็นผลทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดเข่ามากขึ้น พอจะแบ่งผู้ป่วยเหล่านี้ออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยมักอยู่ในวัยกลางคนถึงวัยสูงอายุ มีประวัติข้อเข่าเสื่อมเพียงเล็กน้อย หรือเป็นๆหายๆ
ภาพเอกซเรย์ระยะแรกๆ ยังไม่พบความผิดปกติของข้อเข่าที่เด่นชัด จนกระทั่งเมื่อน้ำหนักตัวของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น เพิ่มขึ้น 5-10 กิโลกรัมในระยะ 3-6 เดือน ช่วงนี้ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเข่ามากขึ้นเนื่องจากข้อเข่าที่เริ่มเสื่อมอยู่แล้วต้องรับน้ำหนักตัวที่มากขึ้นนั่นเอง
จุดมุ่งหมายในการรักษาคือ ให้ผู้ป่วยลดน้ำหนักเพื่อกลับสู่สภาพปกติให้ได้ หากทำได้สำเร็จผลการรักษาจะดีมาก เพราะนอกจากผู้ป่วยจะหายปวดเข่าแล้ว ยังเป็นวิธีป้องกันไม่ให้เข่าที่เสื่อมอยู่แล้วเสื่อมเร็วยิ่งขึ้นจากการแบกรับน้ำหนักตัวที่มากขึ้น นอกจากนี้หากได้ทำร่วมกับการฟื้นฟูกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อรอบๆเข่า อาการปวดจะสามารถหายได้สนิทได้แบบว่าลืมไปเลยว่าเคยปวดข้อเข่า อีกทั้งข้อเข่ายังจะมีอายุการใช้งานนานขึ้น
กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยวัยสูงอายุที่มีประวัติเป็นข้อเข่าเสื่อมอย่างรุนแรง
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีน้ำหนักตัวมาก หรืออ้วนมานาน และมีข้อเข่าเสื่อมมากจนเห็นความผิดปกติจากภาพเอกซเรย์อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็ไม่ได้รับการรักษาเพื่อลดอาการปวดเข่า เช่น การเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อต้นขา การใช้ไม้เท้า
การพยายามลดน้ำหนักในผู้ป่วยกลุ่มนี้มีแนวโน้มจะลดได้ยากกว่าประเภทแรก เนื่องจากผู้ป่วยอ้วนมานาน แต่หากผู้ป่วยได้ความร่วมมือและสามารถลดน้ำหนักลงได้ประมาณ 3-5 กิโลกรัม ก็จะเป็นผลดีต่อผู้ป่วยอย่างมาก เช่นเดียวกับผู้ป่วยข้อสันหลังระดับเอวเสื่อม และผู้ป่วยข้อสะโพกเสื่อมที่อ้วน ซึ่งถ้าได้ลดน้ำหนักลงอาการปวดจะดีขึ้นมากเช่นกัน จุดมุ่งหมายในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้คือ ให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตประจำวันและช่วยเหลือตนเองได้ อาการปวดทุเลาลงจากเดิม ทำให้ผู้ป่วยทรมานจากอาการปวดน้อยลง
ความสัมพันธ์ระหว่างความอ้วนกับโรคข้อเสื่อมนั้นเป็นวงจรอุบาว์ที่รักษาหายยาก เริ่มต้นจากมีอาการปวดจากโรคข้อเสื่อมจึงทำให้ไม่อยากเดินหรือขยับเขยื้อนตัว ทำให้การใช้พลังงานลดลง หากว่ายังกินอาหารเท่าเดิมก็จะมีพลังงานเหลือ ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นและทำให้อาการปวดเพิ่มมากขึ้น ยิ่งถ้าเป็นผู้สูงอายุ มีการเผาผลาญน้อยอยู่แล้วยิ่งทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มได้ง่าย เพราะการที่ขยับหรือไปไหนมาไหนไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดไม่รู้จะทำอย่างไรดี นอกจากพยายามหาความสุขเพิ่มขึ้นในชีวิตโดยการคัดสรรหาของกินอร่อยๆมาให้กินแทน การที่ขยับไปมาไม่ได้ยังทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้อีกด้วย ซึ่งบางครั้งแสดงออกโดยการกินมากขึ้น ยิ่งทำให้อาการปวดเป็นมากขึ้น
แค่ไหนที่เรียกว่า “อ้วน”
โรคอ้วน หมายถึง ภาวะที่มีการสะสมไขมันในร่างกายมากถึงขนาดที่อาจมีผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้มีอายุสั้นลง เพราะมีปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้น
ดัชนีมวลกาย
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่า การหาค่าดัชนีมวลกายเป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับใช้ประเมินภาวะการสะสมไขมันในผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป องค์การอนามัยโลกกำหนดค่า BMI ไว้ดังนี้
· ค่าดัชนีมวลกายน้อยกว่า 18 ถือว่าผอมเกินไป
· ค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 23 ถือว่า มีภาวะน้ำหนักเกิน สำหรับในคนเอเชียรวมถึงประเทศไทยด้วย
· ค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 25 ถือว่ามีภาวะน้ำหนักเกิน สำหรับชนชาติอื่นๆที่ไม่ใช่คนเอเชีย
· ค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 30 เข้าสู่ภาวะโรคอ้วน
· ค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 35 เข้าสู่ภาวะโรคอ้วนรุนแรง
อัตราส่วนเส้นรอบวงเอวต่อเส้นรอบวงสะโพก
นอกจากดูปริมาณไขมันสะสมแล้ว เรายังดูการกระจายตัวของไขมันด้วย โดยพบว่าปริมาณไขมันสะสมที่บริเวณหน้าท้องหรือพุง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจมากกว่าส่วนอื่นๆ
องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ค่าเส้นรอบเอวที่เหมาะสมของชาวเอเชียคือ เพศชายไม่เกิน 36 นิ้ว และเพศหญิงไม่เกิน 32 นิ้ว
วิธีดูว่าตนเองอ้วนหรือยัง เริ่มจากดูค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI ก่อน จากนั้นมาดูอัตราส่วนเส้นรอบวงเอวต่อเส้นรอบวงสะโพกว่าเป็นอ้วนลงพุง หรืออ้วนแบบแอปเปิ้ล และถ้าอยากได้ผลแบบแน่นอนว่าปริมาณไขมันในร่างกายมีมากน้อยเพียงใด จะต้องไปวัดปริมาณไขมันต่อไป
สาเหตุและปัจจัยที่มีผลทำให้เกิดโรคอ้วน
1.ลักษณะรูปร่าง สรีระที่แตกต่างกัน
รูปร่างแบบเอนโดมอร์ฟี่
เป็นกลุ่มที่มีโครงสร้างใหญ่ ไหล่กว้าง สะโพกใหญ่ ร่างกายชอบกักเก็บไขมัน มีโอกาสอ้วนมากกว่ากลุ่มอื่นๆ และลดน้ำหนักได้ยากกว่ากลุ่มอื่นๆด้วย
การออกกำลังกายควรเน้นการออกกำลังกายแบบแอโรบิกให้นานกว่า 30 นาที เพื่อเผาผลาญขามัน ร่วมไปกับการฝึกกล้ามเนื้อและพยายามกินอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตให้น้อยๆ
รูปร่างแบบเมโลมอร์ฟี่
เป็นกลุ่มที่มีโครงสร้างกลางๆมีกล้ามเนื้อมากที่สุดและมีไขมันในร่างกายน้อย มักเป็นกลุ่มที่มีฮอร์โมนเพศชายและโกร๊ธฮอร์โมนมาก
การออกกำลังควรเน้นแบบแอโรบิกและการยกน้ำหนักเพื่อสร้างกล้ามเนื้อไปด้วยกัน
รูปร่างแบบเอ็กโตมอร์ฟี่
เป็นกลุ่มที่ผอม เพรียว สูง มีโครงสร้างกระดูกเล็ก กล้ามเนื้อน้อย ไขมันน้อย แขนขายาว ไหล่แคบ และเผาผลาญดี
การออกกำลังควรเน้นแบบต้านทาน ยกน้ำหนักเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ
2.ความไม่สมดุลระหว่างพลังงานที่ร่างกายได้รับกับพลังงานที่ใช้ไป
ความไม่สมดุลระหว่างพลังงานเข้าและออกที่ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นอาจเกิดได้ใน 3 แบบ
กินมาก ใช้พลังงานปกติ
กินมาก ใช้พลังงานน้อย
กินปกติ ใช้พลังงานน้อย
1.ความเครียด
ความเครียดกับความอ้วนมักมาด้วยกัน คือ เครียดแล้วต้องหาอะไรกินทำให้อารมณ์ดีขึ้น แต่เมื่อน้ำหนักเริ่มขึ้นก็ทำให้เครียดและต้องหาอะไรกินอีก นับเป็นอีกหนึ่งวงจรที่เกิดขึ้นซ้ำๆ
2.การใช้ยาจำพวกสเตียรอยด์
เช่น ยาเพรดนิโซโลน จะเปลี่ยนฮอร์โมนในร่างกายทำให้อ้วนได้ แต่จะอ้วนแบบผิดส่วน มีไขมันพอกที่ต้นคอจนมีลักษณะเป็นโหนกขึ้น ยาพวกนี้ยังทำให้เกิดโรคเบาหวาน โรคกระดูกพรุน และติดเชื้อโรคได้ ดังนั้นจึงควรใช้เมื่อจำเป็นและอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น
3.การทำงานของต่อมไทรอยด์ลดลง
ต่อมไทรอยด์หลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมการเผาผลาญและการใช้พลังงานของเซลล์แทบทุกชนิดในร่างกาย ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยจะอ้วน ฉุ น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น ท้องผูก รู้สึกแบบอืดๆ ส่วนผู้ที่ต่อมไทรอยด์ทำงานมากจะกินจุ แต่กลับผอม แต่อาจจะมีอาการใจสั่น ถ่ายเหลว
4.กรรมพันธุ์ หรือพันธุกรรม
ขณะนี้มีการศึกษาพบว่า เราสามารถเอาชนะธรรมชาติได้ เพราะการลดน้ำหนักเพื่อลดอาการปวดข้อเข่าเสื่อมนั้นไม่ถึงกับต้องลดน้ำหนักจนผอมเพรียว ขอแค่อยู่ในเกณฑ์ปกติก็เพียงพอ ฉะนั้นถึงจะมียีนอะไรอยู่กับตัว เราก็สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดน้ำหนักได้
5.การติดเชื้อไวรัส
6. การเลิกสูบบุหรี่
จากหนังสือ “ปรับชีวิต พิชิตข้อเสื่อม”