1810 จำนวนผู้เข้าชม |
หลายๆท่านคงเคยได้ยินคำว่า ภาวะอวัยวะต่างๆทำงานล้มเหลวกันมาบ้าง เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวการณ์หายใจล้มเหลว ภาวะไตล้มเหลว ภาวะตับล้มเหลว เป็นต้น
โรคข้อเสื่อมก็เป็นภาวะที่เกิดจากการทำงานของข้อล้มเหลว ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างสะดวก และก่อให้เกิดความเจ็บปวดตามมา โดยความผิดปกติอาจจะเริ่มจากส่วนใดส่วนหนึ่งของข้อก่อน เช่น เอ็นอักเสบ กล้ามเนื้อลีบฝ่อ เป็นผลให้ส่วนอื่นๆของข้อพยายามทำงานทดแทนกัน ในที่สุดเมื่อข้อไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติจริงๆจึงเกิดภาวะข้อล้มเหลวตามมา
โรคข้อเสื่อมจึงเรียกอีกชื่อว่า “ข้อล้มเหลว”
ข้อเสื่อมเกิดได้กับทุกข้อ แต่มักเกิดกับข้อที่รับน้ำหนักมาก ได้แก่ ข้อสะโพก ข้อเข่า และข้อกระดูกสันหลัง ข้อกระดูกสันหลังมักเกิดการเสื่อมที่ข้อต่อบริเวณต้นคอ หลัง เอว เพราะเป็นบริเวณที่รับแรงกระแทกและมีการเคลื่อนไหวมาก
ส่วนข้อนิ้วมือจะพบมากที่โคนนิ้วหัวแม่มือและข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า แม้แต่ข้อต่อบริเวณขากรรไกรที่รับแรงบดขยี้จากการเคี้ยวก็พบว่าเสื่อมได้บ่อย แต่ข้อที่ไม่ได้รับน้ำหนัก เช่น บริเวณข้อไหล่ ข้อศอก ข้อมือ ข้อเท้า จะพบข้อเสื่อมได้น้อย
จุดเริ่มต้นของกระบวนการเสื่อม
โรคข้อเสื่อมเป็นภาวการณ์เสื่อมสภาพข้อ เกิดจากการมีแรงมากระทำที่ข้อซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอายุมาก ผู้ที่มีน้ำหนักมากเกินไป จะมีความเสี่ยงสูงมาก นอกจากนี้โรคข้อเสื่อมยังสามารถพบได้ในผู้ที่มีโครงสร้างการวางตัวของกระดูกและข้อผิดปกติ เช่น ข้อเข่าโก่งออก หรือเข้าหากัน จะทำให้การกระจายตัวของแรงผิดปกติ น้ำหนักหรือแรงกระทำต่อข้ออาจจะลงที่จุดใดจุดหนึ่งมากกว่าที่ควร ทำให้กระดูกอ่อนบริเวณนั้นต้องรับน้ำหนักมากจนกระดูกอ่อนบางลงหรือสึกหรอไป
เมื่อกระดูกอ่อนที่ข้อสึกและบางลงจะทำให้เกิดการเสียดสีของกระดูก ผิวของกระดกจะขรุขระ บางส่วนจะแตกออกจนปลายกระดกชนกัน ทำให้เกิดความเจ็บปวดเวลาเคลื่อนไหวข้อต่อนั้นๆ ไม่เพียงเท่านั้น กระบวนการดังกล่าวยังกระตุ้นให้เยื่อหุ้มข้อหลั่งสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบออกมาได้ ทำให้มีอาการบวม และมีน้ำหล่อเลี้ยงข้อเพิ่มมากขึ้น แต่น้ำที่มาหล่อเลี้ยงข้อนั้นกลับเป็นน้ำที่มีสารอักเสบ มีกรด และเอนไซม์ต่างๆมาย่อยกระดูก ดังนั้นหากจะบอกว่า ข้อของเรากำลังแช่อยู่ในน้ำเน่าก็ไม่ผิดนัก
สารอักเสบเหล่านี้ยังกระตุ้นให้เกิดความเจ็บปวด มีอาการบวม และรู้สึกอุ่นๆบริเวณข้อได้ เมื่อเวลาเคลื่อนไหวจะเกิดอาการเจ็บปวด และตึงจนทำให้ไม่สามารถขยับข้อได้สุด
เมื่อมีการกระแทกบ่อยเข้าๆจำทำให้เกิดรอยแยก หรือรอยแตกเล็กๆ (microcrakcing) บนกระดูกอ่อนและกระดูก คราวนี้ร่างกายจะพยายามซ่อมแซมรอยแตกเหล่านั้นด้วยตนเอง โดยการสร้างหินปูนขึ้นมาพอกบริเวณนั้น ทำให้หินปูนมีโอกาสงอกเข้าไปในข้อ แพทย์บางคนจะเรียกว่า กระดูกงอก หรือ กระดูกพอก ทำให้ข้อโตขึ้นแบบแข็งๆ ไม่ใช่ข้อโตขึ้นแบบที่มีการอักเสบ คือจะไม่รู้สึกว่าอุ่นร้อน ไม่มีน้ำในข้อ
ส่วนกระดูกที่งอกออกมานั้นอาจไปขัดขวางการเคลื่อนไหวของข้อเพิ่ม ทำให้กดทับลงบนกระดูกอ่อนส่วนอื่นๆได้ ในที่สุดก็ทำให้เกิดอาการปวดข้อ การเคลื่อนไหวของข้อฝืด ขัด และเคลื่อนไหวได้ลำบากมากขึ้น ในไม่ช้าหากกระดูกงอกเหล่านี้แตกเข้าไปในข้อ จะทำให้มีเศษกระดูกลอยในข้อไปกระตุ้นการอักเสบได้อีก